585 จำนวนผู้เข้าชม |
พืชที่เกิดขึ้นและเจริญเติบโตมาบนโลกหลายล้านปีแล้วล้วนใช้ธาตุอาหารจากวัสดุในธรรมชาติ เช่น เศษซากวัสดุต่างจากซากพืชซากสัตว์ที่มีแร่ธาตุและอินทรีย์วัตถุ แล้วมีจุลินทรีย์มาย่อยสลายปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืช ซึ่งวัสดุเหล่านั้นมักมีปริมาณแร่ธาตุไม่มากและไม่แน่นอน แต่พืชก็ยังเจริญเติบโตและดำรงมาได้ถึงปัจจุบัน จึงถือได้ว่าพืชดำรงอยู่มานานได้ด้วยปุ๋ยธรรมชาติหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่ธาตุอาหารไม่สูง
ความจำเป็นของไทย
ประเทศไทยไม่มีโรงงานผลิตแม่ปุ๋ยเคมีเองจึงจำเป็นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันเรานำเข้าปุ๋ยเคมีมากกว่า90% ปริมาณปีละ4-5ล้านตัน เป็นมูลค่ากว่า2แสนล้านบาท และบางช่วงปุ๋ยขาดตลาดก็มีราคาสูงขึ้นโดยเราไม่สามารถควบคุมได้และต้องยอมรับสภาพ ปุ๋ยเป็นภาระทุนของเกษตรกรกว่า20% และมีแนวโน้มการใช้ที่มากขึ้นเนื่องจากดินที่ใช้ทำการเพาะปลูกเริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ(มีแร่ธาตุและอินทรีย์วัตถุต่ำลง)
ปุ๋ยเคมีนอกจากจะราคาแพงแล้วยังเป็นแร่ธาตุที่สูญเสียระหว่างการใส่ได้ง่าย ทำให้ต้องใช้มากขึ้น แต่เราพบว่าการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์นอกจากจะช่วยเสริมแร่ธาตุอื่นๆแล้ว ยังทำให้การสูญเสียของปุ๋ยเคมีลดลงได้มากอีกด้วย
กฎหมายคืออุปสรรค
ในประเทศไทย สินค้าปุ๋ยเคมี ปุุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ(จุลินทรีย์) มีกฎหมายที่ผู้ผลิตต้องได้รับใบอนุญาตผลิตและต้องขึ้นทะเบียน
ปุ๋ยกับกรมวิชาการเกษตร และต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้มีเกณฑ์ที่คลาดเคลื่อนได้ต่ำมาก แถมกำหนดบทลงโทษกับผู้ผลิตและผู้ขายไว้สูงมาก(โทษจำคุก5-15ปี) ทั้งที่เป็นสินค้าที่ใช้กับพืชและไม่ได้ส่งพิษภัยกับสุขภาพของคน จึงทำให้มีการพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้น้อยมาก โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ทั้งที่ประเทศไทยเรามีวัสดุทึ่เป็นวัตถุดิบมากมาย
วัสดุที่มีอินทรีย์วัตถุแม้จะมีมากหรือน้อยก็ยังถือว่ามีประโยชน์ในแง่ปุ๋ย เพราะเป็นแหล่งแร่ธาตุและพลังงานให้กับจุลินทรีย์ในดินที่จะช่วยย่อยสลาย ปรับปรุงโครงสร้างดิน ช่วยย่อยและตรึงธาตุอาหารให้พืช อินทรีย์วัตถุเมื่อถูกย่อยสลายจะกลายเป็นฮิวมัสซึ่งเป็นวัสดุที่มีค่าการแลกเปลี่ยนประจุบวกสูง(CEC) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยดูดซับแร่ธาตุของปุ๋ยเคมีให้มีสูญเสียน้อยและเกิดประโยชน์มากขึ้น นั่นหมายถึงหากเราเอามาผสมร่วมกับแร่ธาตุปุ๋ยเคมีและสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยใหม่ที่มีทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์อยู่กันก็จะทำให้แร่ธาตุปุ๋ยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อเสนอแนะ
1. ปุ๋ยอินทรีย์
สินค้าปุ๋ยอินทรีย์ควรได้รับการผ่อนคลายทางกฎหมายมากกว่านี้โดยปรับลดเกณฑ์ระดับอินทรีย์วัตถุ หรือเพิ่มเกณฑ์ประเภทปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นทะเบียนได้ เช่น
Grade A = อินทรีย์วัตถุ >20%
Grade B = อินทรีย์วัตถุ 15-20%
Grade C = อินทรีย์วัตถุ 10-15%
และเพิ่มเกณฑ์ค่าEC <20ds/m และยกเลิกค่า Germination Index
2. ปุ๋ยอินทรีย์เคมี
2.1 N+P+K+OM>20% แต่OMต้องไม่ต่ำกว่า5%และต้องเป็นปุ๋ยคอมปาวด์เท่านั้น เช่น 6-3-3+OM8% หรือ 12-3-0+OM5%
2.2 เกณฑ์ธาตุอาหารรายต่ำสุดได้ถึง1% เช่น 11-0-1 หรือ 10-1-1
BCG Economyเป็นนโยบายและหลักคิดที่ดี โดยเฉพาะCircular Economy ที่มีเป้าหมายใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ในประเทศให้กลับมาเป็นประโยชน์ หากเราปรับแก้กฎหมายที่เป็นข้อจำกัดแล้วเปิดให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นภายใต้หลักเกณฑ์ที่เป็นไปได้ ก็จะเกิดประโยชน์แก่ภาคเกษตรของไทยอีกมากครับ