1600 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัจจุบันอาจได้ยินบ่อยๆ เรื่องการพัฒนาใช้ปุ๋ยแบบละลายช้า (slow release fertilizer) สำหรับให้พืชและกลายเป็นปุ๋ยที่ราคาแพงขึ้น ในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ปุ๋ยเคมีที่ละลายเร็วๆ ทำให้ผู้ขายบางกลุ่มก็อ้างเป็นปุ๋ยละลายเร็วและขายราคาแพงขึ้นเช่นกัน นี่จึงกลายเป็นความสับสนว่าแท้จริงแล้วปุ๋ยประเภทไหนที่เหมาะสมกันแน่ วันนี้เราจึงจะมาอธิบายให้เข้าใจกัน
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อน ว่าพืชจำเป็นต้องใช้แร่ธาตุในปุ๋ยเป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต และพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ควรได้รับน้ำและอาหารอย่างต่อเนื่องเหมือนคนและสัตว์ แต่ในอดีตมนุษย์เรามักใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักใส่ให้พืชนานๆ ครั้ง อาจเพราะมองว่าดินยังอุดมสมบูรณ์อยู่ หรืออาจไม่ค่อยมีเวลาใส่ปุ๋ย แต่แท้จริงปุ๋ยกลุ่มอินทรีย์เหล่านั้นมันจะค่อยๆย่อยสลายและปลดปล่อยแร่ธาตุและออกฤทธิ์ได้นานอยู่แล้ว (slow release) ซึ่งสอดคล้องกับอัตราที่พืชค่อยๆดูดกิน จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมไม่ต้องใส่ปุ๋ยบ่อย
แต่พอมีการผลิตปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ออกมาใช้ ปุ๋ยชนิดนี้มักมีธาตุอาหารเชิงเดี่ยวและมีระดับสูง เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) และปุ๋ยเคมี N-P-K ทั่วไป ปุ๋ยเหล่านี้ละลายปลดปล่อยได้เร็วจึงเห็นผลเร็วชัดเจน จึงเป็นที่ชื่นชอบของเกษตรกร แต่เกษตรกรก็ยังคุ้นเคยกับวิธีการใส่ปุ๋ยนานๆครั้งเหมือนอดีต โดยเฉพาะในยุคแรงงานหายาก จึงพยายามจะลดความถี่ของการใส่ปุ๋ยลงอีก ในขณะที่เราต้องการเพิ่มผลผลิตพืชให้มากขึ้น หลายคนจึงใส่ปุ๋ยปริมาณมากเพื่อใส่น้อยครั้งลง โดยหวังว่าปุ๋ยจะสะสมในดินแล้วพืชค่อยๆดูดกินได้ แต่ด้วยคุณสมบัติของดินที่เปลี่ยนไป (อินทรีย์วัตถุลดลง) และด้วยคุณสมบัติของปุ๋ยเคมีที่ละลายเร็ว พืชจึงมักกินไม่ทัน เกิดสภาพปุ๋ยเกิน (overdose) เกิดความสูญเสียมากและเกิดอาการเป็นพิษกับดินและพืช ก็เลยต้องกลับมาใส่ปริมาณน้อยลงและบ่อยขึ้นเหมือนเดิม
จริงๆแล้วเราสามารถจะใช้ปุ๋ยเคมีละลายเร็วให้ได้ผลดีขึ้นซึ่งก็ไม่ยากอะไร แค่ใส่ปุ๋ยบ่อยครั้งขึ้นและใส่ในปริมาณน้อยๆ จะมีการสูญเสียต่ำและไม่เป็นพิษ แต่ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่แรงงานใส่ปุ๋ยและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นต่างหาก เราจึงพยายามคิดค้นวิธีการใส่ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนค่าแรงต่ำลง
ปัจจุบันจึงมีความพยายามทำให้ปุ๋ยเคมีละลายช้าลงหรือควบคุมการปลดปล่อย (controlled release fertilizer) ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การโคทติ้ง (coating) ผิวเม็ดปุ๋ยเคมีด้วยสารโพลิเมอร์ต่างๆ คล้ายการห่อหุ้มด้วยเปลือกไข่ โดยยังไม่ใช่หลักการที่ดีนัก เพราะเราแค่ชะลอการละลาย เมื่อเปลือกที่หุ้มแตกลงแร่ธาตุก็ละลายพรั่งพรูออกมาแบบรวดเร็วเหมือนเดิม อาจหลงลืมไปว่าการใส่ปุ๋ยในอดีต (ปุ๋ยอินทรีย์) ที่ใส่ไม่ต้องบ่อย และใส่ได้ครั้งละมากๆโดยไม่เป็นพิษกับดิน เพราะมันมีอินทรีย์สารที่สร้างกลไกการอนุรักษ์น้ำและแร่ธาตุ (holding) การสร้างสมดุลและป้องกันพิษ (buffer) การเสริมประสิทธิภาพแร่ธาตุปุ๋ยเคมี (chelation) นี่จึงเป็นแนวทางที่เราต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงในดินด้วย หรือมีการใช้อินทรีย์วัตถุมาผสมใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีโดยผสมและปั้นให้เม็ดแบบคอมปาวด์(compound) อนุภาคของอินทรีย์สารซึ่งมี CEC สูง และความสามารถดูดซับแร่ธาตุ (holding capacity) จะทำให้แร่ธาตุปุ๋ยปลดปล่อยได้ช้าลงใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด นี่จึงเป็นอีกเทคนิคที่จะช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้